สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพิจิตร
เลขที่ 29/27 ถนนคลองคะเชนทร์ ตำบลในเมือง อำเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร 66000
โทรศัพท์ : 056-990-380 Email : pi_ops@moc.go.th
จังหวัด พิจิตรอยู่ในบริเวณภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 15 องศา 50 ลิปดา กับ 16 องศา และเส้นแวงที่ 99 องศา กับ 101 ตะวันออก มีเนื้อที่ประมาณ 4,531.013 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2,831,883 ไร่ มีความกว้างประมาณ 72 กิโลเมตร ความยาวประมาณ 77 กิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพฯโดยทางรถยนต์ประมาณ 346 กิโลเมตร และรถไฟระยะทางประมาณ 351 กิโลเมตร อาณาเขต ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอบางระกำ และอำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอชุมแสง และอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูณ์ ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ การปกครอง จังหวัด พิจิตรแบ่งการปกครองออกเป็น 12 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอตะพานหิน อำเภอบางมูลนาก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพทะเล อำเภอสามง่าม อำเภอวังทรายพูน อำเภอทับคล้อ อำเภอสากเหล็ก อำเภอดงเจริญ และอำเภอบึงนาง ลักษณะภูมิประเทศ โดย ทั่วไปของจังหวัดพิจิตรเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำยม และแม่น้ำน่านไหลผ่าน ทั้ง 2 สายไหลผ่านจังหวัดเกือบเป็นลักษณะเส้นขนานจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ โดยมีแม่น้ำพิจิตร(แม่น้ำเดิม) อยู่ระหว่างกลาง ความยาวของแม่น้ำน่านที่ไหลผ่านจังหวัดมีระยะทาง 97 กิโลเมตร และความยาวของแม่น้ำยมที่ไหลผ่านจังหวัดมีระยะประมาณ 128 กิโลเมตร แหล่งน้ำธรรมชาติ จังหวัดพิจิครมีแม่น้ำที่สำคัญไหลผ่าน 3 สายได้แก่ 1. แม่น้ำน่าน มีต้นน้ำจากดอยภูแวในทิวเขาหลวงพระบาง ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอปัว จังหวัดน่าน แม่น้ำน่านไหลผ่านที่ตั้งตัวจังหวัดพิจิตร อำเภอตะพานหิน อำเภอบางมูลนาก และลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ มีความยาวทั้งสิ้น 97 กิโลเมตร มีพื้นที่ในลุ่มน้ำน่านประมาณ 2,602 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,626,250 ไร่ 2. แม่ย้ำยม มีต้นกำเนิดในขุนยวมทิวเขาผีปันน้ำ ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอปง จังหวัดเชียงราย แม่น้ำยมไหลผ่านเข้าจังหวัดพิจิตรที่อำเภอสามง่าม อำเภอโพธิ์ประทับช้าง และอำเภอโพทะเล โดยไหลไปบรรจบกับแม่น้ำน่านที่บ้านเกยชัย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ มีความยาวทั้งสิ้น 124 กิโลเมตร มีพื้นที่ในลุ่มน้ำน่านประมาณ 2,046 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,278,750 ไร่ 3. แม่น้ำพิจิตร คือทางเดินเก่าของแม่น้ำน่าน ต้นกำเนิดของแม่น้ำพิจิตรนั้นไหลแยกจากแม่น้ำน่านที่บ้านวังกระดี่ทอง ในท้องที่อำเภอเมืองพิจิตร มีทิศทางการไหลของน้ำอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ สภาพลำน้ำคดเคี้ยว บางแห่งร่องน้ำตื้นเขินและแห้งในฤดูแล้ง เนื่องจากมีฝ่ายกั้นน้ำไว้เป็นช่วงๆ เพื่อสูบขึ้นมาใช้ทำสวนผลไม้ต่างๆ โดยเฉพาะส้มโอในเขตโพธิ์ประทับช้าง การประกอบอาชีพ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นภาคการผลิตหลัก รองลงมาได้แก่ อุตสาหกรรม การค้าส่ง การค้าปลีก และการบริการ ผลผลิตสำคัญได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเขียว และการประมง |
ถิ่นประสูติพระเจ้าเสือ แข่งเรือยาวประเพณี พระเครื่องดีหลวงพ่อเงิน เพลิดเพลินบึงสีไฟ ศูนย์รวมใจหลวงพ่อเพชร รสเด็ดส้มท่าข่อย ข้าวเจ้าอร่อยลือเลื่อง ตำนานเมืองชาละวัน
มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งเป็น 5 แถบ ใช้สีเขียวเข้ม 3 แถบ สลับด้วย สีขาว 2 แถบ
ประกอบด้วยสระและต้นโพธิ์
สระ หมายถึง เมืองสระหลวง ซึ่งเป็นชื่อเดิมของจังหวัด ตามพงศาวดารเหนือ กล่าวว่าเมืองนี้เป็นเมืองโบราณสมัยขอมและเป็นหัวเมืองเอกตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย มีพญาโคตระบองเป็นผู้สร้างเมือง
ต้นโพธิ์ หมายถึง วัดโพธิ์ประทับช้าง ซึ่งเมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จพระราชดำเนินกลับจากสงครามเมืองเชียงใหม่ ได้นำราชธิดาเมืองเชียงใหม่มาด้วย และได้พระราชทานให้แก่พระเพทราชา เมื่อกองทัพมาหยุดทัพ ณ ที่แห่งนี้ พระนางได้ประสูติบุตรชายที่ใต้ต้นมะเดื่อ บิดาจึงให้นามว่า “เจ้าเดื่อ” ต่อมาได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ที่ 8” หรือพระเจ้าเสือหรือขุนหลวงสรศักดิ์ ระหว่างครองกรุงศรีอยุธยานั้นพระองค์ได้เสด็จมาคล้องช้างเมืองพิจิตร เลยไปเยี่ยมมาตุภูมิเดิมที่หมู่บ้านโพธิ์ประทับช้าง โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระอารามขึ้นที่ตำบลโพธิ์ประทับช้าง
ต้นไม้ ต้นโพธิ์
ดอกไม้ ดอกบัว
ผลไม้ ส้มโอ
สัตว์ จระเข้
"พิจิตร" แปลว่า "งาม" เมื่อกล่าวถึงเมืองพิจิตรจึงหมายถึงเมืองงาม เมืองที่มีเสน่ห์ประทับใจ นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ เป็นที่ประสูติของพระเจ้าเสือ หรือ "พระศรีสรรเพชญ์ที่ 8" พระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยาและเป็นเมืองที่ให้กำเนิดนักปราชญ์ราชบัณฑิต คือ พระโหราธิบดี บิดาของศรีปราชญ์
จังหวัดพิจิตรเป็นจังหวัดเก่าแก่มากจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เชื่อกันว่าเจ้ากาญจนกุมาร (พระยาโคตระบอง) โอรสพระยาโคตมเทวราช เป็นผู้สร้างเมือง เหนือฝั่งแม่น้ำน่านในปี พ.ศ. 1601 เดิมมีหลายชื่อ คือ เมืองสระหลวง เมืองโอฆะบุรี เมืองชัยบวรและเมืองปากยม ดินแดนอันเป็นเขตจังหวัดพิจิตรอยู่ในที่ราบลุ่มตอนใต้ของภาคเหนือในดินแดนสุวรรณภูมิบริเวณนี้เป็นบริเวณที่ลำน้ำยมและลำน้ำน่านไหลผ่าน ลักษณะพิเศษของดินแดนจังหวัดพิจิตรเดิมเต็มไปด้วยห้วย หนอง คลอง บึง พื้นดินจังหวัดพิจิตร เป็นดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตร เพราะเป็นดินตะกอนที่เกิดจากน้ำท่วมทับถมทุกปีมีปลาชุกชุม
ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อเปลี่ยนการปกครองเป็นแบบจตุสดมภ์และแบ่งหัวเมืองออกเป็นหัวเมือง เอก โท ตรี จัตวา เมืองพิจิตรมีฐานะเป็นเมืองตรี มีความสำคัญทางทหารและการปกครองมาก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำกลอนเรื่อง "ไกรทอง" โดยใช้เมืองพิจิตรเป็นแหล่งกำเนิดของเรื่องราว เนื่องจากเมืองพิจิตร เป็นเมืองที่มีแหล่งน้ำมากมายและมีจระเข้ชุกชุมนั่นเอง ในปี พ.ศ. 2435 กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้นำรูปแบบการปกครองระบบ เทศภิบาลมาใช้และได้จัดตั้งมณฑลพิษณุโลก เป็นมณฑลแรกประกอบด้วย 5 เมือง คือ เมืองพิษณุโลก เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย และเมืองพิจิตร